แทนคุณหรือทวงคืน?

image

แทนคุณหรือทวงคืน?
ในคัมภีร์กฎกรรม 3 ชาติ ได้บันทึกไว้ว่า “สามีภรรยามีกรรมร่วมกันมา ไม่ว่าจะดีหรือกรรมชั่ว ไม่มีกรรมไม่อาจอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน บุตรธิดาคือหนี้ ไม่ว่าจะเป็นทวงหนี้หรือใช้หนี้ ไม่มีหนี้ไม่มาเกิดเป็นพ่อแม่ลูกกัน”
ดังนั้น สามีภรรยาที่มีกรรมดีต่อกันย่อมสมานสามัคคีรักใคร่กลมเกลียว ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร ส่วนสามีภรรยาที่มีกรรมชั่วต่อกันย่อมทะเลาะเบาะแว้งบ้านแตกสาแหรกขาดไม่อาจอยู่ร่วมกันจนวันตาย ส่วนบุตรธิดาที่มาทวงหนี้ เป็นลูกที่ไม่เอาไหน เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำให้พ่อแม่ทุกข์ใจไม่วายเว้น บุตรธิดาที่มาใช้หนี้จะสำรวมระวังรู้คุณทดแทนคุณ ไม่กล้าทำให้พ่อแม่ชอกช้ำใจ
ชาวโลกเกิดมาต่างหนีไม่พ้น พบ พราก สุข เศร้า อภัย แค้น รัก ชัง นี่คือผลลัพธ์ของกรรมปัจจัย ปลูกเหตุเช่นไรย่อมได้ลิ้มผลเช่นนั้น ไม่ว่าจะเหตุใดหรือผลใด ล้วนหนีไม่พ้นกรรมปัจจัยทั้งนั้น
1. มาแทนคุณ
ด้วยบุญในอดีตที่ได้สั่งสมร่วมกันมา ด้วยพระคุณที่มีต่อกัน จึงได้มาเกิดเป็นพ่อแม่ลูกหลานกัน เราเรียกบุตรธิดาเหล่านี้ว่า “ลูกกตัญญู” เขามาเพื่อที่จะทดแทนคุณ เป็นเด็กดี ฉลาด เชื่อฟัง เขาเหล่านี้ไม่มีทางจะทำอะไรเสียหายให้พ่อแม่ต้องกลัดกลุ้มกังวลใจ
2. มาล้างแค้น
ด้วยกรรมในอดีตที่ได้สร้างร่วมกันมา จึงได้มาเกิดเป็นพ่อแม่ลูกหลานกัน เมื่อเติบใหญ่ก็จะกลายเป็นลูกล้างผลาญ ทำให้ครอบครัวล่มสลาย เราเรียกบุตรธิดาเหล่านี้ว่า “ลูกทรพี” เขามาล้างแค้น ดังนั้น อย่าได้ผูกเวรไว้กับใคร เจ้ากรรมนายเวรที่อยู่ภายนอกยังพอป้องกันได้ แต่นี่เกิดมาเป็นลูกหลานในบ้านในตระกูลแล้วจะทำอย่างไรดี? ดังนั้น อย่าทำร้ายใคร อย่าฆ่าแกงกัน เพราะต่างคนต่างก็รักตัวกลัวตายเช่นกัน
3. มาทวงหนี้
ชาติก่อนหนหลัง พ่อแม่เป็นหนี้ไว้ไม่ได้ชดใช้คืน หนี้ที่ว่าคือหนี้เงิน ไม่ใช่หนี้ชีวิต เขาจึงเกิดมาเพื่อทวงหนี้คืน หากเป็นหนี้กันน้อย เกิดมาให้ดูแลปีสองปีเขาก็ตาย เราเป็นหนี้เขาเท่าไหร่ เมื่อใช้หมดเขาก็ไป ต่อให้คุณรักเขามากแค่ไหน เขาก็ไม่เคยใส่ใจคุณ หากเป็นหนี้เขาเยอะ เลี้ยงจนเติบใหญ่ จบมหาวิทยาลัย จบวันนั้นก็ตายวันนั้น เขาไม่อยู่รับใช้เรา เพราะมาทวงหนี้ หนี้หมดก็จากไป
4. มาใช้หนี้
ชาติก่อนหนหลัง เขาเป็นหนี้พ่อแม่ไว้ไม่ได้ชดใช้คืน เมื่อเขาเกิดมาในชาตินี้ จึงต้องทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่ก็อยู่ที่ว่าเป็นหนี้พ่อแม่มากน้อยเพียงใด หากเป็นหนี้มาก ก็เลี้ยงดูพ่อแม่เป็นอย่างดี หากเป็นหนี้พ่อแม่น้อย ก็เลี้ยงดูตามอัตภาพ เหมือนที่เราเคยพบเห็น เลี้ยงพ่อแม่ประหนึ่งคนรับใช้ในบ้าน เพราะอะไร? เพราะใช้หนี้ ลูกประเภทนี้แม้จะเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่ก็แค่หล่อเลี้ยงแค่กาย ไม่หล่อเลี้ยงจิตใจ เลี้ยงดูโดยปราศจากความเคารพและความกตัญญู ซึ่งต่างจากบุตรที่เกิดมาเพื่อทดแทนคุณ ประเภทนี้ไม่เพียงแต่หล่อเลี้ยงกาย ยังหล่อเลี้ยงจิตใจบุพการี
หลักธรรมในข้อนี้ มิใช่เพียงแค่ลูกหลาน ยังรวมทั้งญาติพี่น้องและคนรอบข้างทั้งหลายที่เราได้รู้จักและเคยได้อยู่ร่วม หากแต่เป็นเพราะกรรมที่ร่วมก่อกันมา หนักหนาหรือเบาบาง หากบุญคุณความแค้นหนักหนา ก็เกิดมาเป็นสามีภรรยาและลูกหลานพี่น้อง หากบุญคุณความแค้นเบาบาง ก็เกิดมาเป็นญาติสนิทมิตรสหาย
คุณเดินซื้อของในตลาด อยู่ๆคนแปลกหน้าก็มายิ้มให้คุณและคุณก็ยิ้มตอบ ล้วนเป็นบุญกรรมแต่ชาติปางก่อน
คุณเดินซื้อของในตลาด อยู่ๆคนแปลกหน้าก็มายิ้มให้คุณแต่คุณรู้สึกขัดหูขัดตา แถมไม่พอยังถมึงตาใส่ฝ่ายตรงข้ามอีก นี่ก็ล้วนเป็นบุญกรรมแต่ชาติปางก่อน เมื่อเข้าใจในกรรมปัจจัยเหล่านี้ เราจะได้ไม่ผูกกรรมด้านดำเพิ่ม แต่จงผูกกรรมด้านขาวซึ่งเป็นกรรมดีจะดีกว่า
แล้วจะแก้ไขอย่างไร หากเราและลูกหลานผูกกรรมที่ไม่ดีต่อกันมา คำตอบก็คือ นำพาลูกหลานให้หมั่นบำเพ็ญปฏิบัติ ศึกษาพระธรรมคัมภีร์ โปรดจำไว้ว่า “ลูกเขาเราสอน ลูกเราเขาสอน” เมื่อต่างฝ่ายต่างศึกษาธรรม ย่อมแปรกรรมร้ายให้กลายเป็นกรรมดีได้ ย่อมคลายความจองจำคับแค้นให้สลายคลายลงได้ เช่นนี้ที่เราเรียกว่า “เปลี่ยนแปลงชะตาชีวิต เปลี่ยนร้ายกลายดี”